Pages

Sunday, June 21, 2020

โบรกสั่งลดน้ำหนัก 'หุ้นแบงก์' ผวา 'หนี้เสีย' พุ่งแรง - กรุงเทพธุรกิจ

sakonsahom.blogspot.com

22 มิถุนายน 2563

429

“โบรกเกอร์” มอง “ลบ” คำสั่ง ธปท. ห้าม “แบงก์พาณิชย์” จ่ายปันผลระหว่างกาล “บล.กสิกรไทย” ชี้สะท้อนภาพ“ หนี้เสีย”น่ากังวลกว่าที่คิด พร้อมประเมินไตรมาส 2 กำไรกลุ่มแบงก์ส่อต่ำคาดจ่อหั่นประมาณการลงอีก 10% แนะเลี่ยงลงทุน คาดวันนี้เผชิญแรงขายหนัก

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารเงินกองทุนช่วง 1-3 ปีข้างหน้า เพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด พร้อมสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์ซื้อหุ้นคืนและให้งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวดปี 2563 เพื่อรักษาเงินกองทุนให้เข้มแข็งรองรับการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง

โดยฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ให้มุมมองเชิงลบต่อประเด็นนี้ โดยประเมินว่า ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจลดลง 3-4% ซึ่งคาดว่าจะกดดันดัชนีหุ้นไทยประมาณ 7-10 จุด 

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า การงดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของหุ้นแบงก์ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี แม้ว่าในเชิงปัจจัยพื้นฐานจะไม่ได้กระทบต่อบริษัทมากนัก เพราะเงินสดที่ไม่ได้ออกมา ยังคงถูกเก็บไว้กับบริษัท แต่ในเชิงราคาหุ้น นักลงทุนบางกลุ่มซึ่งถือหุ้นกลุ่มแบงก์เพื่อรับเงินปันผล หรือกองทุนบางส่วนที่เน้นลงทุนในหุ้นปันผล อาจจะตัดสินใจโยกย้ายเงินลงทุนไปยังหุ้นอื่นๆ ที่จ่ายเงินปันผลปกติในปีนี้

“ในเบื้องต้นคาดว่าราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ในวันที่ 22 มิ.ย. นี้ จะถูกกระทบราว 3-4% แม้ว่าหุ้นกลุ่มแบงก์จะมีโอกาสที่จะเก็บเงินสดที่เดิมทีจะจ่ายระหว่างกาล อาจจะไปรวมจ่ายทั้งปีได้ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่ามีโอกาสน้อยเพียง 10-20% เพราะจากนโยบายของธปท.ที่ออกมานี้เป็นสัญญาณว่าตัวเลข NPL มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อหลังจากนี้ ทำให้แบงค์น่าจะต้องสำรองเงินมากขึ้น”

การประกาศนโยบายของธปท.ในครั้งนี้ เป็นนัยยะว่าธปท.อาจจะเห็นสัญญาณจากภายในว่า สถานการณ์ของตัวเลข NPL อาจแย่กว่าที่ประเมินกันไว้ก่อนหน้านี้ และหลังจากที่ครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือ ตัวเลข NPL น่าจะยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลลบต่อทั้งแนวโน้มของกลุ่มแบงก์ทั้งระยะสั้นและระยะกลาง

นอกจากนี้ ธปท.ยังประกาศให้แบงก์บริหารจัดการเงินกองทุนหรือสำรองเงินทุนให้เพียงพอไปอีก 1-3 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าให้แบงก์ตั้งสำรองมากขึ้นไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาใดๆ ตามมา จากเดิมที่การตั้งสำรองของแบงก์สูงอยู่แล้ว เมื่อสูงขึ้นอีกจะกดดันต่อภาพรวมกำไร

“ฉะนั้นแล้ว ภาพของกำไรกลุ่มแบงก์ในช่วงไตรมาส 2 นี้ น่าจะออกมาทางต่ำกว่าคาดการณ์ (negative surprise) มากกว่า และในช่วงสิ้นเดือนนี้นักวิเคราะห์จะเริ่มพรีวิวผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าอาจจะเห็นการปรับประมาณการลงในระดับ 10% สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนั้น แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ไปก่อน”

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีที่ธปท.ออกประกาศขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืนเพื่อรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องนั้น ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็น “ลบ” ต่อการงดจ่ายปันผลระหว่างกาลของกลุ่มแบงก์ เพราะแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงจากโควิด-19 ที่มากกว่าคาด ขณะที่นักลงทุนที่ถือหุ้นเพื่อรับเงินปันผลจะขายหุ้นทำกำไรออกมา และอาจกดดันราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ให้ปรับตัวลดลงระยะสั้น

อย่างไรก็ตามคาดว่า ผลกระทบต่อราคาหุ้นแบงก์คงไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มนี้ ยังคงรับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด-19 จึงทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นแบงก์อยู่ยังขาดทุนและไม่น่ามีแรงขายออกมามากนัก ประกอบกับการงดจ่ายปันผลระหว่างกาลรอบนี้ไม่ได้หมายถึงแบงก์จะไม่สามารถจ่ายปันผลได้เลย เพราะหากแบงก์ไหนไม่มีปัญหาทางด้านการเงินก็กลับมาจ่ายในงวดครึ่งปีหลังได้หรือรวบการจ่ายมาเป็นครั้งเดียว

ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารที่มีนโยบายจ่ายปันผลระหว่างกาลมีจำนวน 4 บริษัท ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL),ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) , ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ซึ่งจะทำให้อัตราการจ่ายเงินปันผล (dividend yield) หายไป 2.0-3.5% ในปีนี้ โดยจากการสำรวจการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งของไทย คาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลรวม 6.8 หมื่นล้านบาท หรือคือเป็น 42% ของกำไรที่มีการคาดการณ์ของปีนี้ แต่ในแง่ของแวลูเอชั่นคาดว่าจะไม่กระทบต่อประมาณการ

นายมงคล กล่าวด้วยว่า แม้ฝ่ายวิจัยจะมีมุมมองเป็นลบในระยะสั้น แต่ระยะยาวแล้วโดยส่วนตัวมองเชิงบวก เพราะในความเป็นจริงการออกคำสั่งแบบนี้เป็นการเตรียมการของทุกธนาคารกลางที่จะป้องกันไม่ให้ธนาคารเกิดปัญหาทางการเงินขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 และการประกาศของ ธปท.ไม่ใช่ว่าจะทำเฉพาะประเทศไทย แต่ที่เห็นตอนนี้ธนาคารกลางอังกฤษก็ประกาศใช้ไปตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.แล้ว 

ขณะที่ของสหรัฐฯมีข่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะประกาศผลการทำ Stress Test ของธนาคารพาณิชย์ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ และน่าจะมีการประกาศห้ามจ่ายเงินปันผลด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อราคาหุ้นธนาคารของอังกฤษและสหรัฐฯราวๆ 1-2%

ส่วนกรณี ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะ 2 นั้น เรามีมุมมองเป็นลบต่อกลุ่มแบงก์เล็กน้อย แต่ประกาศรอบนี้ไม่มีมาตรการที่ให้ลดดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อจากก่อนหน้าที่จะให้ EIR-2% ซึ่งผลกระทบรอบนี้น้อยกว่าที่เราเคยคาดไว้ที่ โดยเราคาดว่าจะส่งผลให้หุ้นกลุ่มเช่าซื้ออย่าง TISCO, KKP, TMB มีแรงซื้อกลับได้

Let's block ads! (Why?)



"น้ำหนัก" - Google News
June 22, 2020 at 07:00AM
https://ift.tt/3dmIZK6

โบรกสั่งลดน้ำหนัก 'หุ้นแบงก์' ผวา 'หนี้เสีย' พุ่งแรง - กรุงเทพธุรกิจ
"น้ำหนัก" - Google News
https://ift.tt/2XSuS9P
Home To Blog

No comments:

Post a Comment